ไทเก็ก คือศิลปะการป้องกันตัวของจีนที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “Meditation in Motion” หมายถึง การทำสมาธิในขณะเคลื่อนไหว โดยในปัจจุบันนี้นับเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับลมหายใจคล้ายการทำสมาธิร่วมกับการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ และสง่างาม จากท่าหนึ่งสู่อีกท่าหนึ่งโดยไม่หยุดเคลื่อนไหว ซึ่งแต่ละท่าได้แรงบันดาลใจมาจากท่าของสัตว์ เช่น ท่ากะเรียนขาวสยายปีก เป็นต้น ไทเก็กเป็นกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะคล้ายวงกลม ด้วยท่าทางที่นุ่มนวลและต่อเนื่อง ไม่ต้องออกแรงมาก มีแรงกระแทกต่ำ กล้ามเนื้อไม่ตึงหรือเกร็ง ข้อต่อตามจุดต่าง ๆ และเนื้อเยื่อไม่ยืดขยายมากเกินไปจนทำให้เกิดอันตราย โดยที่หลายคนเชื่อว่าการฝึกไทเก็กเป็นประจำอาจช่วยเพิ่มพลัง ทำให้ร่างกายแข็งแรง หรือป้องกันปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เหมาะสำหรับทุกเพศและทุกวัย ไทเก็กจึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการผ่อนคลายความเครียด หรือชื่นชอบการออกกำลังกายที่เคลื่อนไหวร่างกายช้าและนุ่มนวล
ประโยชน์ของไทเก็ก
ลักษณะเด่นของไทเก็กคือการเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ นุ่มนวล ต่อเนื่อง และไม่ทำให้เหนื่อยหอบเหมือนกิจกรรมหรือการออกกำลังกายรูปแบบอื่น ซึ่งการฝึกไทเก็กอย่างถูกต้องและเป็นประจำ อาจส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายในหลาย ๆ ด้าน เช่น
- เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทั้งกล้ามเนื้อส่วนบน กล้ามเนื้อส่วนล่าง กล้ามเนื้อแกนกลางของหน้าท้องและแผ่นหลัง รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวให้แก่ผู้ที่ฝึกไทเก็กเป็นประจำ
- พัฒนาการทรงตัว การฝึกไทเก็กอาจช่วยพัฒนาการรับรู้ตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของร่างกาย (Proprioception) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์ประสาทของหูชั้นในและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น และช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุอาจหกล้มได้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาบางชิ้นได้แนะนำว่าการฝึกไทเก็กอาจช่วยลดความกลัวที่จะหกล้มได้อีกด้วย
- ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย เช่น เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน บรรเทาอาการปวดข้อ อาการปวดหลัง ลดความดันโลหิต ส่งผลดีต่อสุขภาพของหัวใจ เป็นต้น
- ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตใจ เช่น ช่วยเพิ่มสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด พัฒนาอารมณ์ ช่วยให้หลับสบายหรือนอนหลับได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
ไทเก็กเหมาะกับใครบ้าง
ไทเก็กเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทกที่กล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ น้อย มีความนุ่มนวลและปลอดภัย เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่ไม่ชอบการออกกำลังกาย นอกจากนี้ ไทเก็กยังเป็นกิจกรรมที่ใช้อุปกรณ์ประกอบน้อย ค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมอาจไม่สูง อีกทั้งยังสามารถฝึกไทเก็กได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งในสวนสาธารณะ หรือในห้องพัก จะฝึกคนเดียว หรือฝึกเป็นกลุ่มก็ได้เช่นกัน
ไทเก็กและข้อควรระวัง
ถึงแม้ไทเก็กจะนุ่มนวลและปลอดภัยแต่อาจจะไม่เหมาะสมหรือไม่ปลอดภัยสำหรับคนบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อ ผู้ที่มีอาการปวดหลัง ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนกระดูกหัก ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนอย่างรุนแรง รวมถึงผู้ป่วยโรคไส้เลื่อน หากมีความสนใจการออกกำลังกายในรูปแบบไทเก็ก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพราะอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังหรือปรับเปลี่ยนบางท่าทางเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และทำกิจกรรมด้วยความปลอดภัย อีกทั้งการฝึกไทเก็กกับครูฝึกอาจทำให้มั่นใจได้ถึงการทำท่าทางที่ถูกต้องและปลอดภัยมากกว่าการฝึกท่าทางจากหนังสือหรือจากคลิปวิดีโอ